วันจันทร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2565

ดอลล่าร์แข็งค่าอีกแล้ว จะเกิดอะไรขึ้น

 Dollar Index แตะ 100 เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา

เป็นการแตะ 100 ในรอบ 2 ปี นับตั้งแต่มีหตุการณ์โควิดระบาด
เหตุการณ์นี้กำลังจะบอกอะไรแก่เรา




ดังที่เราได้เคยบอกเล่ากันไปเมื่อครั้งก่อนเกี่ยวกับการเกิด Inverted Yield Curve ว่า พันธบัตรระยะสั้นมีการเทขายมากกว่าพันธบัตรระยะยาว จนกระทั่งถึงตอนนี้ พันธบัตรระยะยาวก็ถูกเทขายออกมาอย่างมากอีกเช่นกัน จนทำให้ Bond Yield พุ่งสูงพอ ๆ กับ Dollar Index ที่วิ่งแรง จนแตะ 100 ไปเรียบร้อย
Dollar Index มีการขยับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ มาตั้งแต่กลางปี 2021 ประมาณเดือนพฤษภาคม จากประมาณ 89.8 แล้วก็ค่อย ๆ ขยับขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งแตะ 100 เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา
การที่ Dollar Index สูงเช่นนี้ แปลว่า มีการเทขายทรัพย์สินเสี่ยง แม้กระทั่งทรัพย์สินที่เสี่ยงน้อยที่สุดอย่างพันธบัตรรัฐบาล ก็ถูกเทขายด้วย ค่าเงินสกุลต่าง ๆ ทั่วโลกมีการอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลล่าร์ เนื่องจากมีการเทขาย และมีการถือเงินดอลล่าร์เพิ่มมากขึ้น
พูดง่าย ๆ ก็คือว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้นักลงทุนต่างขายสินทรัพย์เสี่ยง และเงินสกุลอื่น มาถือเงินสดที่เป็นสกุลเงินดอลล่าร์
เหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งล่าสุดก็คือช่วงที่โควิดระบาด สินทรัพย์เสี่ยงถูกเทขายอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ก่อนที่จะมีการกลับตัวอย่างรวดเร็วเช่นกัน
หากประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
ไม่แน่ว่า ในอนาคตอันใกล้ เราจะเห็นตลาดต่าง ๆ มีการผันผวนอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้น ตลาดเงิน หรือแม้กระทั่งตลาดคริปโต คือมีการกลับตัวขึ้นลงอย่างรวดเร็ว ก็เป็นได้
หรือเราอาจจะเห็นตลาดหุ้นและตลาดคริปโตร่วงลงอย่างหนัก ก็เป็นได้อีกเช่นกัน
และถ้าหากเหตุการณ์เช่นนี้ยังคงดำรงอยู่ (Dollar Index แข็งค่า) ก็อาจจะเป็นการกดดัน FED ให้ต้องเปลี่ยนนโยบายกะทันหัน
อย่างต่ำที่สุดอาจจะต้องทำ Yield Curve Control คือ เข้าซื้อพันธบัตร เพื่อลดความแข็งค่าของ Dollar ลง
มากกว่านั้นและเป็นสิ่งที่ FED ไม่อยากทำก็คือ ลดอัตราดอกเบี้ย หรืออย่างน้อย ๆ ก็คงอัตราดอกเบี้ยต่ำเอาไว้
จนถึงที่สุด หากเงินดอลล่าร์ยังแข็งค่าอยู่ สิ่งที่ต้องทำต่อไปก็คือ QE นั่นเอง ก็จะกลายเป็นว่า FED ยอมแพ้ ต้องกลับมาทำ QE อีกรอบ หลังจากที่ยืนยันมั่นเหมาะว่า เราจะต้องควบคุมเงินเฟ้อ เราจะต้องขึ้นดอกเบี้ยในอัตราเร่ง

และทั้งหมดทั้งมวลนี้ นักลงทุน นักเก็งกำไรทั้งหลาย โปรดระวังการเหวี่ยงของตลาดไว้ให้ดี ๆ นะครับ
ตลาดอาจเกิดความผันผวนอย่างรุนแรงช่วงเวลาใดก็ได้

ธัชชัย ธัญญาวัลย
12/04/2022

วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2565

เงินเยนจะอ่อนค่าไปถึงไหน

 เงินเยนอ่อนค่าหนักในรอบ 7 ปี



ตั้งแต่ปลายปี 2020 เงินเยนมีการอ่อนค่าขึ้นเรื่อย ๆ จากประมาณ 101 Y ต่อ 1 USD เป็น 124 Y ต่อ 1 USD แล้ว ในปัจจุบันนี้ ซึ่งเท่ากับอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อ 7 ที่แล้ว คือ ในช่วงกลางปี 2015 ซึ่งช่วงนั้นค่าเงินเยนอ่อนสุดอยู่ที่เกือบ ๆ 126
เช่นเดียวกับกลางปี 2007 เงินเยนอ่อนค่ามาอยู่ในระดับดังกล่าว ก่อนจะแข็งค่าเรื่อย ๆ จนอยู่ที่ 75 เมื่อปลายปี 2011 แล้วก็อ่อนค่ามาเรื่อย ๆ

อย่างที่เราทราบกันว่าทางธนาคารกลางญี่ปุ่น ( Bank of Japan: BOJ) ได้พยายามแทรกแซงค่าเงินเยนอยู่เสมอ และดำเนินนโยบายให้เงินเยนนั้นอ่อนค่า โดยการเข้าซื้อพันธบัตรทุกราคา ที่เรียกกันว่าเป็นการทำ Yield Curve Control เพื่อไม่ให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นสูงขึ้นจากการถูกเทขาย ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่ได้ต่างจากการทำ QE มากนัก จึงมีคนขนานนามว่า นี่คือการทำ QE แบบหนึ่ง โดยเจ้าหนี้ใหญ่ก็คือ BOJ ซึ่งพร้อมจะพิมพ์เงินเพื่อออกมาซื้อพันธบัตรอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบัน BOJ ถือหนี้นี้ไว้ถึง 44%
นอกจากนี้ BOJ ก็ยังดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและต้องการให้เกิดเงินเฟ้อ แต่ยิ่งทำก็ยิ่งเหมือนว่าจะประสบความล้มเหลว เพราะเงินเฟ้อก็ไม่เกิดและเศรษฐกิจก็ไม่ได้กระเตื้องขึ้นตามที่อยากให้เป็น
ถ้าใครชอบญี่ปุ่น หรือเคยรับรู้รับทราบเกี่ยวกับญี่ปุ่น จะสังเกตเห็นว่า คนญี่ปุ่นนั้นไม่ค่อยใช้จ่าย เน้นเก็บออม นอกจากนี้ยังมีค่านิยม minimalism หรือแม้กระทั่งมีค่านิยมใหม่ ๆ เช่น ไม่อยากทำงานในตำแหน่งที่สูงขึ้น ไม่อยากได้เงินเดือนมากขึ้น อยากทำงานเดิม ๆ สบาย ๆ มีพอกินพอใช้ก็เพียงพอแล้ว อย่างนี้เป็นต้น ก็ยิ่งทำให้การบริโภคภายในประเทศต่ำเตี้ยเรี่ยดิน
ดังนั้น BOJ ก็ยังคงดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำอยู่เรื่อย ๆ แม้กระทั่งมีข่าวบ่อย ๆ ว่าจะทำให้ดอกเบี้ยติดลบ เพื่อให้คนเอาเงินออกมาทำอย่างอื่นแทนที่จะฝากอยู่ในธนาคาร ซึ่งด้วยนโยบายแบบนี้ก็จะทำให้เงินเยนถูกเทขายจนอ่อนค่าลงเรื่อย ๆ นั่นเอง
และในอนาคตอันใกล้ ยิ่งสหรัฐอเมริกาขึ้นดอกเบี้ยมากเท่าไหร่ เงินเยนก็จะยิ่งถูกเทขายมากขึ้น


ต้นปี 2002 เงินเยนอ่อนค่าสุดอยู่ที่ประมาณ 135 Y ต่อ 1 USD
ซึ่งก็ไม่แน่ว่า ในอีกไม่ช้านานเราอาจได้เห็นอัตราแลกเปลี่ยนในราคานั้นอีกก็เป็นไปได้ หากทาง BOJ ยังไม่เปลี่ยนแปลงนโยบาย และ FED ยังขึ้นดอกเบี้ยไปเรื่อย ๆ
โปรดรอติดตามชม
ธัชชัย ธัญญาวัลย
10/04/2022

Inverted Yield Curve บอกอะไรแก่เรา

 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ตลาดพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐ
เกิดสิ่งที่เรียกว่า inverted yield curve
ซึ่งนักลงทุนทั่วโลกต่างให้ความสนใจ
เพราะอะไร?

Inverted yield curve คือปรากฏการณ์ที่ผลตอบแทนของพันธบัตรระยะสั้นมากกว่าผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาว
โดยปกติแล้วธรรมชาติของการลงทุน สิ่งที่เป็นระยะยาวจะมีความเสี่ยงมากกว่า นักลงทุนจึงต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่าเพื่อให้คุ้มค่ากับความเสี่ยง
ดังนั้น พันธบัตรระยะยาว (10ปี ขึ้นไป) จึงต้องให้ผลตอบแทนที่มากกว่าพันธบัตรระยะสั้น
แต่เมื่อไม่นานมานี้ผลตอบแทนพันธบัตร 2 ปี ดันให้ผลตอบแทนที่มากกว่าพันธบัตร 10 ปี เนื่องจากนักลงทุนพากันแห่ขายพันธบัตร 2 ปี ทำให้ผลตอบแทนของมันสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนสูงกว่าพันธบัตร 10 ปี และเกิดเป็น inverted yield curve ในที่สุด
นั่นแสดงให้เห็นว่านักลงทุนมีความกังวลว่าในระยะเวลาอันใกล้นี้เศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะไม่ดี หรือพูดในอีกแง่ก็คือไม่มีความเชื่อมั่นในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล
จึงพากันเทขายพันธบัตรระยะสั้นออกไป (การเทขายพันธบัตรยิ่งขาย bond yield หรือ ผลตอบแทนจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น)
สิ่งที่จะตามมาเมื่อเกิดสัญญาณนี้ขึ้นคืออะไร
โดยตัว inverted yield curve นั้น ไม่ได้ทำให้เกิดอะไรขึ้นโดยตรง มันเป็นแค่สัญญาณจากนักลงทุน ว่า ในอนาคตข้างหน้า ภายใน 1-2 ปี “อาจ” เกิดสิ่งที่เรียกว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) ซึ่งการส่งสัญญาณของ inverted yield curve นี้ค่อนข้างแม่นพอสมควร เช่น ตอนเกิดวิกฤตปี 2008 ก็มีการเกิด IYC ขึ้นมาก่อน
FED กลัวหรือไม่ หากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ?
เอาจริง ๆ ตัวแปรที่น่าจะก่อให้เกิด recession ตัวแรกก็คือ การขึ้นดอกเบี้ยของ fed
ยิ่ง fed ดำเนินนโยบายแบบ hawkish เกี่ยวกับดอกเบี้ยมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นตัวเร่งให้เกิด recession มากขึ้นเท่านั้น และเอาเข้าจริง ๆ fed ก็ไม่ได้กลัว recession มากเท่าไหร่นัก เพราะสิ่งที่ fed กังวล คือเงินเฟ้อมากกว่า
เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีการกดดันจากนักลงทุนในแรงที่มากเพียงพอ เราก็คาดได้ว่า fed จะยังขึ้นดอกเบี้ยต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ จากนั้นจึงจะค่อย ๆ ลดดอกเบี้ยเพื่อฟื้นคืนชีพเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่ นี่คือคาดการณ์แรก
คาดการณ์ที่สอง หากนักลงทุนกดดัน fed มาก และตลาดมีแนวโน้มจะดิ่งลงอย่างรวดเร็ว fed อาจจะเริ่ม dovish คือมีการชะลอหรืออาจจะมีการลดดอกเบี้ยลงเลยก็ได้ ถ้าเห็นท่าไม่ดี
เพราะที่ผ่านมา fed สามารถทำ soft landing ได้แค่ 3 ครั้งเท่านั้น จาก 11 ครั้ง ในการดำเนินนโยบายการขึ้นดอกเบี้ยแบบ hawkish
แต่พาวเวล ก็ดูเหมือนจะยังมีความเชื่อมั่นอย่างสูงว่า fed จะกระทำการ soft landing ได้ หากต้อง hawkish จริง ๆ
สิ่งที่นักลงทุนต้องระวังจากกรณีนี้คืออะไร ?
แน่นอนว่าในระยะ 1-2 ปีข้างหน้านี้ หาก fed กระทำการ hawkish จริงและนำไปสู่การเกิด recession จริง ตลาดหุ้นก็จะเข้าสู่ภาวะหมี ซึ่งอาจจะค่อย ๆ ซึมลง และอาจให้ผลตอบแทนที่ไม่น่าสนใจ จังหวะการเล่นอาจจะเล่นยาก แต่ถ้าเป็นสาย vi อาจจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะที่จะเก็บสะสมหุ้นดีราคาถูก
ส่วนตลาดทองคำน่าจะมีความผันผวนพอสมควร แต่มีแนวโน้มว่าจะเป็นขาขึ้น อาจจะขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่ได้ภายในปีนี้ หากไม่หลุดแนวรับที่ $1780
สถานการณ์โลกช่วงนี้ค่อนข้างเปราะบาง เช่นเดียวกับตลาดทุนต่าง ๆ
การลงทุนมีความเสี่ยง
โปรดติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดนะครับ 🙂


ธัชชัย ธัญญาวัลย
03/04/2022

หลักสูตรเพื่อสอบกองทุน (คอร์สวิดีโอ)

  หลักสูตรนี้สร้างขึ้น เพื่อช่วยให้การสอบกองทุนของเทรดเดอร์  มีความง่าย สะดวก  รวดเร็ว  ประสบความสำเร็จในการสอบมากขึ้น มีเนื้อหาสาระที่จำเป็...